วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

         กรมการขนส่งทางบก และ ขสมก. ทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้นจะทดลองแบ่งรถเส้นทางละ 5 คัน ควบคู่กับการให้บริการในเส้นทางเดิม วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เพื่อประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ นำมาพัฒนายกระดับระบบรถโดยสารประจำทางด้วยคุณภาพการให้บริการอย่างมืออาชีพ


             วันนี้ (9 สิงหาคม 2560) เวลา 14.00 น. ณ กรมการขนส่งทางบก นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และนายณันทพงศ์ เชิดชู, นายกมล บูรณพงศ์, นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และดร.สุเมธ องกิตติกุล ที่ปรึกษา TDRI และที่ปรึกษาโครงการ ร่วมแถลงถึงแนวทางตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถรายเดียว โดย ขสมก. จะมีสถานะเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ส่วนรถร่วม ขสมก. เดิมจะต้องขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถกับกรมการขนส่งทางบกโดยตรง มีผลให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพการให้บริการอย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มทางเลือกและการเข้าถึงการให้บริการ ลดการทับซ้อนเส้นทาง เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ ตลอดจนรองรับการพัฒนาเมือง ชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนสูงสุด ภายใต้การยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย การคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถด้วยรูปแบบการแข่งขันเชิงคุณภาพ กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน สภาพรถ รูปแบบการให้บริการ ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นระบบที่จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือทางการบริหาร เช่น การติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อติดตามการเดินรถ การรองรับ E-Ticket ตั๋วต่อตั๋วร่วม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างมืออาชีพ สร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจ ความปลอดภัย จูงใจให้ประชาชนมาใช้ระบบสาธารณะ ลดปัญหาการจราจร โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนปฏิรูปฯ ภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิรูปฯ ลดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ สร้างความรับรู้ ความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิรูปที่สมบูรณ์เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสาธารณะ


         นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปอีกว่า ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการกำหนดรายละเอียดชื่อเส้นทาง เพื่อสร้างความเข้าใจและการจดจำอย่างเป็นระบบในเชิงพื้นที่ เบื้องต้น จึงได้กำหนดหมายเลขเส้นทางเป็นลักษณะเขตพื้นที่แบ่งเป็น 4 โซน และกำหนดทั้งสัญลักษณ์เชิงสี หมายเลขเส้นทางที่ไม่เกิน 2 หลัก และตัวอักษร ที่จะทำให้เข้าใจง่ายมากขึ้น สังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยใช้หลักการเชิงพื้นที่เดิมที่มีจำนวน 8 เขตการเดินรถ แบ่งเป็นโซนดังนี้ เขตการเดินรถที่ 1, 2 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีเขียว (Green: G) เขตการเดินรถที่ 3, 4 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีแดง (Red: R) เขตการเดินรถที่ 5, 6 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีเหลือง (Yellow: Y) และเขตการเดินรถที่ 7, 8 กำหนดเป็นโซนพื้นที่สีน้ำเงิน (Blue: B) และเพื่อป้องกันความสับสนสำหรับเส้นทางที่มีต้นทางปลายทางเดียวกันแต่บางช่วงของเส้นทางมีการใช้ทางด่วน จึงได้กำหนดตัวอักษรเพื่อความเข้าใจคือ Expressway: E 
อย่างไรก็ตามเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กรมการขนส่งทางบกได้เปิดรับฟังความคิด ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ ข้อสังเกต ในเรื่องของการจัดระบบหมายเลขเส้นทาง ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. หรือ URL: http://www.facebook.com/BusRerouteBKK/เพื่อนำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นมาวิเคราะห์ ประเมินผล และพิจารณาปรับเปลี่ยนการดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

               อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดเส้นทางเดินรถ โดยแบ่งเป็นเส้นทางทดลองเดินรถจำนวน 8 เส้นทาง ซึ่งในเบื้องต้นจะแบ่งรถจากเส้นทางเดิม เส้นทางละ 5 คัน เพื่อทดลองเดินรถให้บริการควบคู่กับการให้บริการในเส้นทางเดิม ดังนี้ 

สายที่ G21 รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 (เทียบเคียงสาย 114 อ.ต.ก. 3 – แยกลำลูกกา)


สายที่ G59E มีนบุรี – ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) (เทียบเคียงสาย 514 มีนบุรี – ถ.รัชดาภิเษก – สีลม)

สายที่ R3 สวนหลวง ร.9 – สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ (เทียบเคียงสาย 11 อู่เมกา บางนา – มาบุญครอง)

สายที่ R41 ถนนตก – แฮปปี้แลนด์ (เทียบเคียงสาย 22 อู่โพธิ์แก้ว – สาธุประดิษฐ์)

สายที่ Y59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน – กระทุ่มแบน (เทียบเคียงสาย 189 สนามหลวง – กระทุ่มแบน)

สายที่ Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ – สถานีขนส่งจตุจักร (เทียบเคียงสาย 509 สถานีขนส่งจตุจักร – บางแค)

สายที่ B44 วงกลมพระราม 9 – สุทธิสาร (เทียบเคียงสาย 54 วงกลมรอบเมืองห้วยขวาง)

สายที่ B45 หมู่บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม – ท่าเรือสะพานพุทธ (เทียบเคียงสาย 73 อูโพธิ์แก้ว – สะพานพุทธ)

              ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาทดลองเดินรถทั้ง 8 เส้นทาง ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 15 กันยายน 2560 ตั้งแต่เวลา 06.30 น. – 18.30 น. โดยให้ ขสมก. กำหนดเวลาการเดินรถให้มีความเหมาะสม และจัดเก็บอัตราค่าโดยสารเป็นอัตราเดียวกับที่ ขสมก. จัดเก็บ และเพื่อให้ประชาชนผู้โดยสารง่ายแก่การจดจำ บริเวณด้านหน้ารถและด้านข้างรถจะมีแถบสีแสดงพื้นที่ให้บริการและเส้นทาง รวมถึงแสดงชื่อเส้นทางใหม่ ควบคู่กับเลขสายและชื่อเส้นทางเดิม พร้อมจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ติดตั้งบริเวณป้ายรถเมล์ บนรถ และผ่านสื่อทุกช่องทาง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกและ เจ้าหน้าที่ ขสมก. ประจำพื้นที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

         สำหรับเส้นทางนำร่อง ซึ่งเป็นเส้นทางที่กำหนดขึ้นใหม่ตามแผนปฏิรูปฯ จากการสำรวจความต้องการใช้บริการของประชาชน และการเกิดขึ้นใหม่ของชุมชน กรมการขนส่งทางบกได้เปิดรับคำขอแล้วจำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และ สายที่ Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) โดยจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเชิงคุณภาพ ทั้งการคัดเลือกผู้ประกอบการและรถโดยสารที่ได้มาตรฐานและมีความเหมาะสม 

           อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้โดยสารและผู้ประกอบการ โดยกรมการขนส่งทางบกยึดหลักการดำเนินการแบบประชารัฐ มีการรับฟังความคิดเห็น และการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพการให้บริการ สร้างความเชื่อมั่น ความพึงพอใจ ยกระดับคุณภาพชีวิต


ที่มา : กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น